ตรุษจีน “วันชิวอิก” วันแรกของปี เริ่มหลังเที่ยงคืนของ “วันซาจั๊บ” วันสุดท้ายของปี เรียกว่า “วันถือ” เพราะถือเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ ทุกคนจะพูดแต่สิ่งดีๆ สิ่งที่เป็นมงคล เริ่มตั้งแต่ “วันจ่าย” ซึ่งเป็นวันจ่ายตลาดเตรียมข้าวของสำหรับไหว้ในวันรุ่งขึ้น รวมทั้งเป็นวันจ่ายโบนัสให้ลูกจ้าง คนเชื้อสายจีน ทุกคนคงยังเชื่อ ยึดถือ และปฎิบัติตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนธรรมเนียม และวัฒนธรรม ที่ชาวจีนปฏิบัติตามมาแต่เก่าก่อนเป็นการแสดงถึงความเป็น ครอบครัวและเอกลักษณ์ ของตน.
ข้อห้ามในวันตรุษจีน
- ทุกคนจะไม่พูดคำหยาบหรือพูดคำที่ไม่เป็นมงคล คำว่า สี่ ซึ่งออกเสียงคล้ายความตายหรือการใกล้ตาย เรื่องผีสางเป็นเรื่องต้องห้าม เรื่องราวที่เกิดขึ้นในปีเก่าๆ จะไม่เอามาพูดถึง ซึ่งการพูดจะมีแต่เรื่องอนาคต และทุกอย่างที่ดีกับปีใหม่และการเริ่มต้นใหม่
- หากคุณร้องไห้ในวันปีใหม่ คุณจะมีเรื่องเสียใจไปตลอดปี เด็กที่ปฎิบัติตัวไม่ดี ผู้ใหญ่จะทน ไม่โมโห และไม่ตีสั่งสอน
- การแต่งกายและความสะอาด วันตรุษจีนไม่ควรสระผมเพราะมีความเชื่อว่าะชะล้างความโชคดีของเราออกไป เสื้อผ้าสีแดง ถือเป็นสีแห่งความสุข นำความสว่างและเจิดจ้าให้แก่ผู้สวมใส่ เชื่อกันว่าอารมณ์และการปฏิบัติตน จะส่งให้มีผลดีหรือผลร้ายได้ตลอดทั้งปี
- ห้ามทำของแตก เชื่อว่าจะเป็นลางร้ายที่บอกว่าจะเกิดการแตกแยก หรือมีการเสียชีวิต
- ห้ามให้ยืมสิ่งของต่างๆ โดยเฉพาะเงิน มีความเชื่อที่ว่า การให้ยืม หรือติดเงินใครไว้ควรคืนก่อนวันตรุษจีน ไม่เช่นนั้นจะมีหนี้สินตลอดปี
- การเข้าไปหาใครในห้องนอนในวันตรุษจีน ถือเป็นโชคร้าย ไม่ว่าจะเป็นคนป่วยก็ต้องแต่งตัวออกมานั่งในห้องรับแขก
- ไม่ควรใช้มีดหรือกรรไกรในวันตรุษจีนเพราะเชื่อว่าจะเป็นการตัดโชคดี
ข้อปฎิบัติ วันตรุษจีน
1. ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้เจ้า และไหว้ผีไม่มีญาติ
ตอนเช้า ไหว้เจ้าในบ้าน คือ “ตีจูเอี๊ย” และไหว้บรรพบุรุษ
ตอนเที่ยง ไหว้ผีไม่มีญาติ เมื่อไหว้เสร็จจะจุดประทัด จากนั้นจะโปรยข้าวสารผสมเกลือ ขับไล่สิ่งที่ไม่ดีให้หมดไป
2. รวมญาติกินเกี๊ยว
รวมญาติ ร่วมโต๊ะกินเกี๊ยวในวันซาจั๊บมื้อสุดท้ายก่อนขึ้นปีใหม่ และที่ต้องเป็น “เกี๊ยว” ก็เพราะลักษณะของเกี๊ยวที่เหมือนกับ “เงิน” ของจีน ความหมายว่า ให้มั่งมีเงินทอง
3. กินเจมื้อเช้า ในมื้อแรกของปี
วันชิวอิก คนจีนจะกินเจมื้อแรกของปี เชื่อกันว่าจะได้บุญตลอดทั้งปี
4. ทำพิธีรับ “ไช่ซิงเอี้ย”
เป็นเทพพิทักษ์ทรัพย์ หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ส่วนใหญ่จะทำพิธีระหว่างหลังเที่ยงคืนของวันซาจั๊บจนถึงก่อนเวลาตี 1
5. ห้ามกวาดบ้าน
เพราะถือว่าจะกวาดเอาโชคลาภ และสิ่งที่เป็นมงคลทิ้งไป
6. ติด “ตุ๊ยเลี้ยง” หรือคำอวยพรปีใหม่
คำอวยพรบนกระดาษสีแดง ด้วยตัวอักษร 7 ตัว เขียนเป็นคำกลอน อวยพรให้ทำมาค้าขึ้น ให้มั่งมีเงินทอง ติดตามสองข้างประตูบ้าน และมีอีกแผ่นสำหรับติดทางขวางตรงกลางทางเข้า-ออก เขียนคำว่า “ชุก ยิบ เผ่ง อัง” แปลว่า เข้า-ออกโดยปลอดภัย รวมทั้งติดภาพเด็กผู้หญิง-เด็กผู้ชาย ที่เรียกว่า “หนี่อ่วย” ซึ่งเป็นภาพมงคลของจีน ติดที่ประตูหน้าบ้าน
7. ใส่เสื้อผ้าใหม่สีสันสดใส
8. นำส้ม 4 ผล อวยพรผู้ใหญ่
วันชิวอิกทุกคนจะนำส้ม 4 ผล ไปกราบผู้ใหญ่ขอพร เจ้าบ้านเองนอกจากจะเตรียมเมล็ดแตงโมย้อมสีแดงไว้ 1 พาน และลูกสมอจีนไว้รับแขกแล้ว เมื่อมีผู้มาอวยพร จะรับส้มขึ้นมา 2 ผล และนำส้มในบ้านที่เตรียมไว้วางคืนลง 2 ผล
9. รับ-และให้อั่งเปา
อั่งเปา เป็นเงินของขวัญที่มีการให้และรับในวัฒนธรรมจีน ชื่ออั่งเป่าภาษาจีนมาความหมายถึง ซองสีแดง ที่มอบให้โดยมีเงินบรรจุอยู่ด้านใน อั่งเปานิยมมีการให้มอบให้ในงานสำคัญของครอบครัว เช่น พิธีแต่งงาน หรือ วันตรุษจีน โดยในวันตรุษจีนผู้ที่มีอายุสูงกว่าหรือทำงานมีเงินเดือนแล้ว จะเป็นคนให้อั่งเป่าแก่เด็กหรือญาติที่ยังไม่ได้ทำงาน สีแดงของซองเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความโชคดี และเงินที่บรรจุภายบางครั้งจะเป็นเลขนำโชค เช่น เลข 8 อ่านในภาษาจีนจะมีความหมายถึงความรุ่งเรือง หรือความร่ำรวย
ในวันปีใหม่ คือเป็นวันพบปะญาติมิตร ไหว้พระ อวยพรผู้ใหญ่ ส่วนอั่งเปานั้นเป็นเพียงน้ำจิ้มเล็กๆ ที่สร้างความสุขความตื่นเต้นให้กับเด็กน้อย เท่านั้น