“สงกรานต์” ภาษาสันสกฤตแปลว่า ก้าวขึ้น เปลี่ยนผ่าน หรือการเคลื่อนที่ ย้ายที่ ซึ่งตรงกับทางโหราศาสตร์ที่ว่า วันสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งตรงกับวันที่ 13 , 14, 15 เมษายนของทุกปี ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ เป็นประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงความสวยงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน ความอบอุ่น และการให้เกียรติเคารพซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างชัดเจนโดยใช้ “น้ำ” เป็นสื่อกลางในการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างกันเป็นประเพณีที่เก่าแก่ของไทยที่ได้ยึดถือปฏิบัติกันมาแต่ครั้งโบราณ มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น ทำความสะอาดบ้านเรือน เข้าวัดทำบุญ ขนทรายเข้าวัด การละเล่นสาดน้ำของหนุ่มสาว ก่อเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ในแต่ละวันช่วงเทศการสงกรานต์ตามขนบธรรมเนียมที่ยึดถือและปฎิบัติ สืบต่อกันมาจะมีอะไรบ้างมาดูกันค่ะ
13 เมษายน เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” วันสิ้นปีเก่าเตรียมเข้าสู่วันขึ้นปีใหม่ จะปัดกวาด ทำความสะอาดบ้าน เพื่อชำระล้างสิ่งไม่ดีให้ออกไปจากบ้าน เป็นการต้อนรับปีใหม่ บางบ้านก็จะยิงปืน(สมัยก่อน) จุดประทัด หรือทำอะไรก็ได้ให้เกิดเสียงดัง เพื่อขับไล่สิ่งไม่ดีต่างๆ ออกไป
14 เมษายน “วันเนาหรือวันเน่า” ตามวัดวาอารามต่างๆ จะเตรียมงานทำบุญสงกรานต์ ตอนบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัดเตรียมก่อเจดีย์ทราย วันนี้คนโบราณมีความเชื่อว่า ห้ามพูดจาไม่ดีต่อกัน ห้ามทะเลาะเบาะแว้ง เพราะจะทำให้โชคไม่ดีไปตลอดปี
15 เมษายน “วันเถลิงศกหรือวันพญาวัน” วันที่เข้าวัด ทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว มีการรดน้ำดำหัว ขอพรจากผู้สูงอายุ ผู้อาวุโสในชุมชน การละเล่นสาดน้ำของหนุ่มสาว เป็นโอกาสสำคัญที่หนุ่มสาวจะได้พบปะพูดคุยกัน เกี้ยวพาราสีกันได้ด้วยการละเล่นสาดน้ำ
ในขณะที่ชาวต่างชาติรู้จักวันสงกรานต์ในส่วนของการเล่นสาดน้ำคลายร้อนที่โด่งดังไปทั่วโลก ปัจจุบันบางจังหวัดก็จะมีการเฉลิมฉลองยาวนานกว่า 3 วัน เช่น ประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่ ประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประเพณีสงกรานต์(วันไหล)พัทยา และประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเราก็มีประเพณีวันสงกรานต์เช่นเดียวกันค่ะ
***คุณแม่และคุณพ่อบ้านค่ะ เราได้รู้ประวัติของวันสงกรานต์กันพอสมควรแล้ว ฉะนั้นเรามาช่วยกันสืบสานขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทยให้คงอยู่ต่อไปนะคะ
อย่าลืมกดไลค์แฟนเพจกันด้วยนะคะ www.facebook.com/ข้าวหงษ์ทอง ใส่ใจสร้างสรรค์ข้าวคุณภาพ