ผู้มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน และ หอบหืด อย่าออกกำลังกายเอง เพราะเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายถึงตายได้ ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อน สำหรับวิธีออกกำลังกายที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว จำเป็นต้องออกกำลังกายควบคู่กันไป แต่ลักษณะของการใช้แรง ระยะเวลา และวิธีการออกกำลังกายนั้น จะแตกต่างตามความเหมาะสมกับโรคที่ตนเองเป็น ดังนี้
1. ผู้ป่วยโรคหัวใจ คำแนะนำการออกกำลังกายจากแพทย์ ช่วงแรกควรออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ ค่อยเป็นค่อยไป หยุดพักเมื่อเริ่มเหนื่อย หรือแน่นหน้าอก หลังจากที่เริ่มชินให้เพิ่มระยะเวลาการออกกำลังกาย จนสามารถทําได้อย่างต่อเนื่องนาน 15 นาทีขึ้นไป และทําเป็นประจําทุกวัน ที่สำคัญ ควรมีการอบอุ่นร่างกายก่อนและหลังการออกกำลังกายทุกครั้ง หลีกเลี่ยงกีฬาที่ใช้กำลังมากและต้องแข่งขัน เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล ยกน้ำหนัก เพราะจะเพิ่มภาระต่อระบบหัวใจและปอด เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หัวใจวายเฉียบพลัน ทำให้เสียชีวิตได้
2. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไม่ควรออกกำลังกายก่อนนอน เพราะไกลโคเจนที่สะสมในกล้ามเนื้อ และตับ ถูกใช้ในการออกกำลังกายจนหมด อาจเกิดภาวะน้ำตาลในโลหิตต่ำขณะนอน หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายโดยใช้กล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีดอินซูลินอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หลังฉีด เพราะจะถูกดูดซึมสู่กระแสโลหิตเร็วเกินไป อย่าออกกำลังในช่วงที่อินซูลินออกฤทธิ์สูงสุด ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวานควรงดการแข่งขันกีฬาหรือการเกร็งกล้ามเนื้อโดยไม่เคลื่อนไหว การออกกำลังกายที่เหมาะสม คือ การเดิน การแกว่งแขน รำมวยจีน วิ่งเหยาะ ๆ เดินเร็ว ขี่จักรยานช้า ๆ ว่ายน้ำช้า ๆ
3. ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง การออกกำลังแบบเคลื่อนที่จะทำให้ร่างกายได้ใช้ออกซิเจน เพิ่มความสามารถการทำงานของหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงขึ้น ควรเป็นการออกกำลังชนิดแอโรบิก ทำต่อเนื่องกันอย่างน้อย 20 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ ถีบจักรยาน ว่ายน้ำ แอโรบิก
4. ผู้ป่วยโรคหอบหืด ต้องควบคุมอาการหอบให้ได้ก่อนออกกำลังกาย ควรพกยาพ่นขยายหลอดลมติดตัวตลอดเวลาและพ่นก่อนออกกำลังกาย 15 นาที มีการอบอุ่นร่างกายก่อนและหลังการออกกำลังกายทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย เมื่ออากาศแห้งและเย็น ควรออกกำลังกายในระยะเวลาที่เหมาะสมโดยประมาณ 15 – 30 นาที เมื่อมีอาการหอบให้หยุดทันที นั่งพัก พ่นยาขยายหลอดลมถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์ กีฬาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยนั้น ได้แก่ กีฬาที่ออกกำลังกายเป็นระยะสั้น ๆ สามารถพักเป็นช่วง ๆ ได้ เช่น การเดินที่ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป การวิ่งระยะสั้น ๆ ว่ายน้ำ จะช่วยให้ปอดทำงานดีขึ้น โยคะและแอโรบิกจะช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้กับร่างกายผู้ป่วย
➣➣ การตรวจสุขภาพเป็นประจำจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากมีโรคประจำตัว แพทย์จะให้คำแนะนำในการออกกำลังกายที่ถูกต้องแก่ตัวผู้ป่วยเอง และหากมีความผิดปกติขณะออกกำลังกายควรหยุดทำกิจกรรมดังกล่าวและรีบปรึกษาแพทย์ทันที
อย่าลืมกดไลค์แฟนเพจกันด้วยนะคะ www.facebook.com/ข้าวหงษ์ทอง ใส่ใจสร้างสรรค์ข้าวคุณภาพ