อยู่ยากขึ้นทุกวัน นอกจากอากาศจะไม่หนาวไม่เย็นตามชื่อฤดูแล้ว 2-3 ปีให้หลังมานี่ยังมีฝุ่นละออง ขนาดเล็กมากปกคลุมกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งต่างจังหวัดบางแห่ง กรมควบคุมมลพิษได้ออกมากล่าวว่า หมอกหนาทึบที่เรามองเห็นนั้นเกิดจากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่เกินมาตรฐาน นี่เป็นปัญหาโดยตรงต่อ สุขภาพ ที่คนกรุงเทพและปริมณฑลต้องศึกษาให้รู้จริง

1. PM 2.5 คืออะไร
• ฝุ่นละอองขนาดเล็กมากๆ ขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นฝ่าศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์
• ขนจมูกของมนุษย์ไม่สามารถกรอง PM 2.5 ได้ มันจึงสามารถแพร่กระจายสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเรื้อรังหลายชนิด

PM2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เทียบอย่างง่ายว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ เล็กจนสามารถเล็ดลอดขนจมูกเข้าสู่ร่างกายได้ ฝุ่นพิษจึงสามารถเข้าสู่เส้นเลือดฝอยและกระจายไปตามอวัยวะได้ PM 2.5 มีลักษณะที่ขรุขระคล้ายสำลี เป็นพาหะนำสารอื่นเข้ามาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน และสารก่อมะเร็ง

2. PM 2.5 อันตรายแค่ไหน
• PM2.5 จะสามารถลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานและปะปนกับมลพิษอื่นในอากาศ แพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอด และผ่านเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ
• เป็นสารก่อมะเร็ง และโรคอื่นๆ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งปอด และโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนล่าง ทำให้คนไทยตายก่อนวัยอันควรประมาณ 50,000 รายต่อปี

ด้วยองค์ประกอบของสารพิษเหล่านี้ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ตั้งแต่ปี 2556 อีกทั้งยังเป็นสาเหตุให้ 1 ใน 8 ของประชากรโลก เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

3. PM 2.5 มาจากไหน
• แหล่งกำเนิดโดยตรง ได้แก่ การเผาในที่โล่ง การคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้า การผลิตของภาคอุตสาหกรรม กิจกรรมจากแหล่งที่อยู่อาศัยและธุรกิจการค้า
• การรวมตัวของก๊าซและมลพิษอื่นๆ ในบรรยากาศ
• สภาพอากาศนิ่ง และอุณภูมิต่ำฝุ่นละอองขนาดเล็กจากท่อไอเสียรถยนต์ลอยขึ้นไปไม่ได้

การเผาในที่โล่ง ปล่อย PM2.5 มากที่สุดถึง 209,937 ตันต่อปี โดยมาจากการเผาในพื้นที่เพาะ ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตอาหารในภาคเหนือตอนบนของไทย และภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมไปถึงหมอกควันพิษข้ามพรมแดน
การคมนาคมขนส่ง ปล่อย PM2.5 ราว 50,240 ตันต่อปี โดยมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ทั้งดีเซลและแก๊สโซฮอล์เป็นหลัก
การผลิตไฟฟ้า ปล่อย PM2.5 ราว 31,793 ตันต่อปี

อุตสาหกรรมการผลิต ปล่อย PM2.5 ราว 65,140 ตันต่อปี โดยพบมากที่สุดในพื้นท่ีเขตควบคุมมลพิษ มาบตาพุด จังหวัดระยอง
การรวมตัวของก๊าซอื่นๆ ในบรรยากาศ ได้แก่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และออกไซด์ของไนโตรเจน รวมทั้งมีสารปรอท , แคดเมียม , อาร์เซนิก หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ที่ล้วนแล้วแต่เป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์

4. ป้องกัน PM 2.5 ได้อย่างไร
• งดออกกำลังกายกลางแจ้ง
• ผู้มีโรคประจำตัวให้ปรึกษาแพทย์และหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง
• หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่น

กรมควบคุมโรคยืนยันว่าคนทั่วไปจะมีผลกระทบต่อสุขภาพต่อเมื่อต้องสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 นานเกิน 8 ชั่วโมงขึ้นไป

5. เลือกใช้หน้ากากป้องกัน PM 2.5 อย่างไร
• หน้ากาก N 95 ป้องกันฝุ่นขนาด 0.3 ไมครอนได้อย่างนน้อย 95% จึงป้องกัน PM 2.5 ได้ เหมาะกับผู้ที่ต้องทำงานในพื้นที่เสี่ยงเป็นเวลานาน
• หน้ากากอนามัยทั่วไป สามารถใช้ทดแทนได้ถ้าไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงเป็นเวลานาน

ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์เปิดเผยว่า การใส่หน้ากาก N95 เพื่อป้องกันฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว และใส่ถูกวิธีป้องกันได้แน่นอน แต่ถ้าใส่ไม่ถูกวิธีหรือมีลมออกข้างๆ ก็คง ไม่ช่วยอะไร คนป่วย คนที่ไม่แข็งแรง ถ้าต้องใส่ N95 จะอึดอัดเพราะหายใจไม่สะดวก

สำนักอนามัย กทม. ชี้แจงว่าการใช้หน้ากากอนามัยธรรมดาที่มีเยื่อบุพิเศษ 3 ชั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ สามารถป้องกัน PM 2.5 ได้ แต่เนื่องจากเราไม่ได้อยู่ในบริเวณนั้นตลอดเวลา ถ้าแค่ผ่านไปเล็กน้อย ก็ยังสามารถป้องกันได้

6. เช็คค่า PM 2.5 ได้อย่างไร
• แอปพลิเคชั่น Air4Thai (ทั้ง App Store และ Google Play Store)
• เว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ
– www.air4thai.pcd.go.th
– www.aqnis.pcd.go.th
– www.aqmthai.com
• เว็บไซต์ The World Air Quality Index
www.aqicn.org/city/bangkok (ใช้ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษแสดงข้อมูลแบบเรียลไทม์แต่คำนวณโดยใช้หน่วยต่างกัน)

 

อย่าลืมกดไลค์แฟนเพจกันด้วยนะคะ www.facebook.com/ข้าวหงษ์ทอง ใส่ใจสร้างสรรค์ข้าวคุณภาพ