คุณแม่บ้านส่วนใหญ่ อาจมองข้ามและไม่เห็นความสำคัญของการเก็บรักษาเครื่องปรุงที่ใช้ประกอบอาหารหลังจากที่ใช้งานเสร็จแล้วนะคะ หากคุณละเลยหรือเก็บรักษาไม่ถูกวิธี อาจส่งผลให้เครื่องปรุงมีสี และรสชาติที่เปลี่ยนแปลงไป ก็นำมาประกอบอาหารไม่ได้สุดท้ายก็ต้องทิ้งไป ซึ่งส่งผลให้แม่บ้านอย่างเราต้องเสียเงินเสียเวลาและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในเดือนนั้นเพิ่มขึ้นอีกด้วยค่ะ

ไม่ว่าผู้ผลิตจะใช้กรรมวิธีใด ๆ ก็แล้วแต่เพื่อรักษาเครื่องปรุงให้อยู่ได้นาน ก็ย่อมต้องมีวันหมดอายุ และเสียคุณค่าทางอาหารไม่เร็วก็ช้า เราจะทำยังไงให้เครื่องปรุงเหล่านี้ไม่หมดอายุไปก่อนวันที่ระบุ ลองมาดูกันนะคะ

1. ใส่ตู้เย็นเพื่อยืดอายุ
อุณหภูมิก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เครื่องปรุงมีอายุการใช้งานสั้นนะคะ โดยเครื่องปรุงที่นำมาประกอบอาหารบางชนิดเก็บไว้ได้ไม่นานในอากาศที่ร้อนค่ะ อย่างเช่น ซอสพริก หรือซอสมะเขือเทศ เมื่อนำมาปรุงมาประกอบอาหารแล้วใช้ครั้งเดียวไม่หมด ก็ควรต้องเก็บไว้ในตู้เย็นค่ะ หรือเครื่องปรุงบางชนิดที่เป็นประเภทผงปรุงรสสำเร็จรูป เช่น น้ำตาล เกลือ ต่าง ๆ หากวางไว้ที่มีอุณหภูมิร้อนก็จะจับตัวเป็นก้อน เอามาใช้ไม่ได้อีก ทำให้ต้องเททิ้งหมด เสียดายของมาก ๆ เลยค่ะ จะรู้ได้อย่างไรว่าเครื่องปรุงประเภทนี้ควรเก็บไว้ในอุณหภูมิแบบใด ก็ให้คุณแม่บ้านดูสังเกตได้จากฉลากของผลิตภัณฑ์ของเครื่องปรุงนั้น ๆ ที่มักจะมีการระบุว่า “เปิดแล้วควรเก็บในตู้เย็น” หรือ “ควรเก็บให้พ้นแสงแดดและความร้อน”

2. เก็บใส่ตู้ป้องกันแสงแดด
แสงแดดเป็นอีกสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่เราหลีกเลี่ยงได้ค่ะ คุณแม่บ้านทราบมั้ยคะว่าเครื่องปรุงบางชนิด ถ้าวางไว้กลางแดดกลับเป็นผลดี เช่น กะปิ เพราะหากปิดฝาไว้นาน ๆ ควรนำออกมาผึ่งแดดให้แห้ง จะทำให้กะปิไม่เสียเร็ว แต่เครื่องปรุงบางชนิด ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด เช่น น้ำปลา และซอสปรุงรสต่างๆ เพราะจะทำให้รูป รส กลิ่น สี เปลี่ยนไป เครื่องปรุงรสส่วนใหญ่ ควรเก็บรักษาในตู้เก็บเครื่องปรุงที่ไม่โดนแสงแดด เพื่อคงรสชาติและถนอมคุณภาพของเครื่องปรุงนั้นให้ใช้ได้นาน ๆ ค่ะ

3. เลือกภาชนะที่มิดชิด ป้องกันความชื้น
ความชื้นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เครื่องปรุงรสบางชนิดเกิดความเสียหายได้ เพราะเครื่องปรุงบางอย่างหากอยู่ใกล้ความชื้นจะทำให้จับตัวเป็นก้อน ขึ้นราหรือบูดได้ง่าย นำมาปรุงประกอบอาหารอีกไม่ได้ค่ะ เช่น ผงปรุงรสต่าง ๆ หากโดนความชื้นแล้วจะจับตัวเป็นก้อน ทำให้ไม่สามารถนำมาใช้งานได้อีกค่ะ ดังนั้นเมื่อคุณแม่บ้านเปิดใช้งานแล้ว ก็ควรใส่ในภาชนะที่ปิดสนิทและเก็บไว้ในที่แห้ง หรือในที่ที่ไม่มีความชื้น หากคราวหน้าหยิบมาใช้ เราก็จะมั่นใจได้ว่าสามารถนำมาประกอบอาหารได้โดยไม่ต้องกังวลว่าคุณภาพจะเปลี่ยนไป

4. รีบใช้รีบเก็บ ไม่เปิดทิ้งไว้
เมื่อคุณนำเครื่องปรุงมาใช้ในการประกอบอาหาร พอเปิดใช้งานแล้ว ไม่รีบปิดฝาหรือเก็บเข้าชั้นทันที แบคทีเรียและเชื้อโรคที่อยู่ในอากาศจะเข้าไปทำปฏิกิริยากับเครื่องปรุง จะทำให้รูป รส กลิ่น สี เปลี่ยนไป อายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ก็สั้นลง คุณก็ต้องทิ้งเสียเงินซื้อใหม่อยู่ดีค่ะ อย่างเช่น ซอสปรุงรส หรือ น้ำปลา เมื่อเปิดฝาทิ้งไว้ไม่ปิดเป็นเวลานาน จะทำให้กลิ่นไม่หอม สีเข้มขึ้น และรสชาติเค็มขึ้น พอนำมาทำอาหารรสชาติก็จะเปลี่ยนไปด้วยค่ะ

5. เลือกบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะตั้งแต่ตอนซื้อ
บรรจุภัณฑ์สินค้าบางตัว เมื่อเปิดใช้งานแล้วต้องใช้ครั้งเดียวให้หมด แต่เครื่องปรุงบางประเภทมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรักษาคุณภาพสินค้าให้มีอายุการใช้งานได้นานมากขึ้น เช่น บรรจุภัณฑ์ประเภทขวดแก้ว ขวดบรรจุแบบพลาสติก หากเป็นประเภทที่ต้องมาแกะซองใส่ และต้องถ่ายใส่ในภาชนะอื่น ๆ อาจจะทำให้เราใช้งานได้ไม่สะดวก แต่ถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราควรเลือกภาชนะที่เหมาะกับเครื่องปรุงนั้น ๆ ควรเลือกภาชนะที่มีฝาปิดได้สนิท ที่ไม่ให้อากาศ แมลง หรือเชื้อโรคเข้าไปได้ จะทำให้เครื่องปรุงของคุณมีอายุการใช้งานได้นานเลยทีเดียวค่ะ

เห็นมั้ยล่ะคะ เท่านี้คุณแม่บ้านก็ทราบเทคนิคการรักษาเครื่องปรุงประเภทต่าง ๆ ให้ถูกวิธีแล้ว เพียงแค่ดูแลอุณหภูมิให้เหมาะสม ใช้แล้วรีบปิดฝาเก็บเข้าที่ เก็บในภาชนะบรรจุภัณฑ์ให้ดี เพียงเท่านี้เครื่องปรุงก็ดูเหมือนใหม่ เปิดมาไม่ต้องเททิ้ง แถมยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวได้อีกเยอะเลยค่ะ

อย่าลืมกดไลค์แฟนเพจกันด้วยนะคะ www.facebook.com/ข้าวหงษ์ทอง ใส่ใจสร้างสรรค์ข้าวคุณภาพ