ทำงานหนักกันมาทั้งปี ในช่วงวันหยุดยาวหลายครอบครัวก็อยากจะวางแผนพาครอบครัวไปเที่ยวกันพร้อมหน้าพร้อมตาใช่มั้ยคะ การเที่ยววัดหรือแหล่งทำบุญน่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่จะถูกใจผู้สูงอายุได้ไม่แพ้แหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ซึ่งเราได้รวบรวมแหล่งทำบุญ ที่ผู้สูงอายุสามารถเดินได้ง่าย ในกรณีที่ใช้รถเข็นก็สะดวก เราลองดูแหล่งทำบุญสายธรรมชาติเหล่านี้กันเลยค่ะ
วัดญาณเวศกวัน พุทธมณฑลสาย 4
วัดญาณเวศกวันเป็นวัดที่ร่มรื่น อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ ถ้าดูจากภายนอกแล้วบรรยากาศจะแตกต่างจากวัดทั่วไป เพราะเต็มไปด้วยต้นไม้ที่หนาแน่น มีสระน้ำใหญ่ ลมเย็นร่มรื่น เหมาะกับการพาผู้สูงอายุมาสูดอากาศบริสุทธ์มาก ๆ บรรยากาศที่สงบร่มเย็นขนาดนี้ สามารถอ่านหนังสือธรรมะ ทำบุญ นั่งสมาธิ ได้ตามอัธยาศัยเลยค่ะ
ประวัติความเป็นมา: วัดญาณเวศกวัน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2532 เริ่มมีพระสงฆ์เข้าจำพรรษาและมีประกาศตั้งเป็นวัดในปี พ.ศ. 2537 มีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เป็นเจ้าอาวาส ชื่อของวัด “ญาณเวศกวัน” มีความหมายว่า “ป่าที่มีเรือนแห่งความรู้” หรือ “ป่าของผู้เข้าสู่ญาณ” พื้นที่ส่วนใหญ่ของวัดจะเป็นต้นไม้และรายล้อมไปด้วยธรรมชาติด้วยพื้นที่กว่า 28 ไร่
การเดินทาง: เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 4 กลับรถที่สะพานลอยคนข้ามที่ 2 ผ่านสามแยกไฟแดง กลับรถแล้วชิดซ้าย เข้าซอยแรก ตรงเข้ามาประมาณ 2 กิโลเมตร จะมีป้ายชื่อวัดสีเขียวบอกทางที่ปากซอย ประมาณ 50 เมตรจะพบประตูทางเข้าวัดทางซ้ายมือ
วัดมหาธาตุ จ. อยุธยา
อยุธยาเป็นอีกจังหวัดที่น่าสนใจในการพาผู้สูงอายุมาเที่ยว การเดินทางสะดวกห่างจากกรุงเทพประมาณ 80 กิโลเมตรเองค่ะ ในตัวเมืองมีแหล่งโบราณสถานมากมาย แต่สิ่งที่พลาดไม่ได้เลยก็คือการได้เยี่ยมชม “เศียรพระพุทธรูปในรากต้นโพธิ์” ที่วัดมหาธาตุ ซึ่งถือว่าเป็นมรดกโลกที่โด่งดังไปไกลถึงต่างชาติเลยค่ะ ทางเดินโดยรอบนั้นกว้างพอที่จะสามารถเข็นรถเข็นดูวิวจากรอบนอกได้ ผู้สูงอายุก็จะสามารถได้ไหว้พระและย้อนเวลาเพื่อสัมผัสกับบรรยากาศในอดีตอีกครั้ง
ประวัติความเป็นมา: วัดมหาธาตุเป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา สร้างในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ต่อในสมัยสมเด็จพระราเมศวร โดยได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระปรางค์ประธาน และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ใต้ฐานพระปรางค์ประธานของวัดมหาธาตุ วัดนี้เป็นศูนย์กลางเมืองและเป็นสถานที่จัดพระราชพิธีต่าง ๆ ของกรุงศรีอยุธยาอีกด้วยค่ะ
การเดินทาง: จากกรุงเทพฯ ขับรถมุ่งสู่ตัวเมืองอยุธยาแล้วข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตรงไปจนถึงสี่แยกไฟ แดงที่ 2 เลี้ยวขวาตรงไปไม่ไกลนัก ผ่านบึงพระราม จะเห็นวัดมหาธาตุอยู่ทางซ้ายมือ เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น. ค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท
วัดสังฆทาน จ.นนทบุรี
เป็นอีกหนึ่งวัดที่น่าพาผู้สูงอายุไปไหวพระทำบุญมากเลยค่ะ อยู่ไม่ไกลเดินทางสะดวก บริเวณวัดร่มรื่น มีโบสถ์แก้วรูปทรงแปดเหลี่ยมที่ทำด้วยกระจกทั้งหมด มีเรือนไทยไม้สลักที่งดงาม ถ้าใครอยากหาพื้นที่สงบสำหรับนั่งสมาธิ ในบริเวณวัดก็จะมี “ลานปฏิบัติธรรม” สำหรับการเดินจงกรม และสามารถนั่งพักผ่อนหย่อนใจได้ที่ศาลากลางน้ำ ลมเย็น ๆ หนีความอึดอัดในเมืองออกมา ผ่อนคลายทำให้หายเครียดได้มากเลยค่ะ
ประวัติความเป็นมา: ในปี 2511 หลวงพ่อสนอง กตปุญโญได้พบ วัดสังฆทาน เป็นวัดร้างอยู่กลางสวนมีเพียงหลวงพ่อโตและศาลาไม้เก่า ๆ หลังจากนั้นท่านก็ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมวัดมาเรื่อย ๆ และสร้างโบสถ์แก้วรูปทรงแปดเหลี่ยมขึ้นมาเพื่อสามารถเป็นโบสถ์ที่หลวงพ่อโตจะประทับได้ดูสวยเป็นสง่า และในโบสถ์แก้วยังสามารถรองรับพระภิกษุสงฆ์ได้มาก สำหรับในอุปสมบทหมู่ หรือการประชุมสงฆ์ได้ถึง 200 – 300 รูปเลยค่ะ
การเดินทาง: จากฝั่งกรุงเทพ วิ่งไปตามถนนรัตนาธิเบศร์ข้ามสะพานพระราม 5 ชิดซ้ายจะเห็นป้ายวัดสังฆทาน เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร หรือสามารถนั่งเรือข้ามฟากจากท่าน้ำนนทบุรีไปท่าน้ำบางศรีเมืองและต่อรถสองแถวเข้าไปยังวัดสังฆทานได้ค่ะ
วัดจุฬาภรณ์วนาราม จ.นครนายก
สูดอากาศบริสุทธ์ท่ามกลางซุ้มป่าไผ่ คล้ายป่าไผ่อาราชิยาม่า ประเทศญี่ปุ่น ซุ้มป่าไผ่ของ “วัดจุฬาภรณ์วนาราม” จังหวัดนครนายก มีลักษณะเป็นอุโมงค์ไผ่ สีเขียวธรรมชาติ โค้งงอเข้ามาหากัน ดูสวยงามน่าถ่ายรูปมากเลยค่ะ ซุ้มป่าไผ่มีลักษณะที่เป็นต้นไม้ไผ่ที่สูงยาว โค้งตัวเข้าหากัน จนกลายเป็นเหมือนทางเข้าอุโมงค์ที่จะเดินไปยังสถานปฏิบัติธรรม ซึ่งทางเดินผ่านซุ้มป่าไผ่นั้นมีความยาวประมาณ 800 เมตร
ประวัติความเป็นมา: วัดนี้ได้รับที่ดินมาจากนายมานะ ปิ่นมงคลจำนวน 47 ไร่เมื่อปี 2548 และได้โอนเป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิส่งเสริมพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในพระราชูปถัมภ์ จากนั้นจึงจัดสร้างเป็นวัดขึ้นมาเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เมื่อทรงพระชนมายุ 50 พรรษาโดยเริ่มดำเนินการในปี 2549 และในปี 2550 สมเด็จพระญาณวโรดมได้ออกหนังสือขอพระราชทานนามวัดนี้จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีและได้รับพระราชทานนามวัดนี้ว่า “วัดจุฬาภรณ์วนาราม”
การเดินทาง: เส้นทางถนน รังสิต-นครนายก มุ่งหน้าสู่ อำเภอบ้านนา จะมีป้ายทางเข้าวัดจุฬาภรณ์วนาราม มีพื้นที่จอดรถสำหรับนักท่องเที่ยว
อย่าลืมกดไลค์แฟนเพจกันด้วยนะคะ www.facebook.com/ข้าวหงษ์ทอง ใส่ใจสร้างสรรค์ข้าวคุณภาพ