“คุณกินอะไรก็เป็นอย่างนั้น หรือ You are what you eat” หากคุณอยากมีสุขภาพที่ดีคุณก็ต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ตอนนี้กระแสรักสุขภาพกำลังแรงมาก ๆ รวมถึงราคาสินค้าข้าวของก็ขึ้นแรงไม่แพ้กันเลยทีเดียว ทำให้หลายบ้านหันมาปลูกผักสวนครัวกันมากขึ้นค่ะ เพราะนอกจากจะมีผักสด ๆ ที่ปลอดภัยไร้สารเคมีไว้รับประทานแล้ว ยังถือว่าเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปในตัวอีกด้วยค่ะ
หากคุณอยากจะเริ่มลงแรงปลูกผักเองแล้ว ลองมาดูเคล็ดลับกันนะคะว่า จะทำอย่างไรถึงจะได้ผักที่สวยงาม น่ารับประทาน แถมยังใช้เงินน้อยและปลอดภัย ไร้สารพิษกันค่ะ
ปลูกผักตามฤดูกาล
ก่อนอื่นคุณควรเลือกผักสวนครัวให้เหมาะสมกับฤดูกาลและสภาพอากาศของประเทศเรา เพราะจะทำให้ดูแลรักษาง่าย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแล ได้ผักที่มีคุณภาพ ผลผลิตดี มีโรคและแมลงรบกวนน้อย ไม่ต้องใส่สารเคมี ปลอดภัยจากสารพิษ รับประทานได้อย่างสบายใจค่ะ
คุณแม่บ้านทั้งหลาย บางครั้งเวลาไปจ่ายตลาดเคยสงสัยไหมว่าผักบางชนิดบางเดือนเริ่มมีราคาแพง ฉะนั้น คงดีหากเราหันมาปลูกผักไว้ทานเอง มาดูกันสิว่าเดือนไหนควรปลูกผักแบบไหนค่ะ
ฤดูร้อน ช่วงเดือน ก.พ. – เม.ย. เป็นช่วงสภาพอากาศร้อน ทำให้ผักอาจถูกแดดเผาไหม้มีใบเหลืองและเหี่ยวตายได้ ควรเลือกผักที่ทนร้อนทนแล้งได้ดี หมั่นรดน้ำทั้งเช้า-เย็น พรวนดินหาฟางข้าวมาคลุมป้องกันแดด เพื่อรักษาความชุ่มชื่นของผัก เราก็จะได้ผลผลิตก็จะออกมางาม
ฤดูฝน ช่วงต้นฝนเดือน พ.ค. – ก.ค. และช่วงปลายฝนเดือน ส.ค. – ต.ค. เป็นช่วงที่อากาศชื้นสูง บวกกับน้ำฝนตามธรรมชาติ ผักบางอย่างจะเน่าง่าย และอาจมีเชื้อราที่มาพร้อมกับฝน หากปลูกกลางแจ้งเราควรหาหลังคาหรือตาข่ายบาง ๆ มาคลุม หรือฟางข้าวมาคลุมเพื่อป้องกันน้ำฝนที่ตกลงมากระทบผัก
ฤดูหนาว ช่วงเดือน พ.ย. – ม.ค.เป็นช่วงที่มีอากาศเย็น เป็นฤดูที่จะให้ผลผลิตดีและทำเงินได้ หากปลูกช่วงนี้ก็ต้องระวังเรื่องของศัตรูพืช เราอาจใช้น้ำหมักสมุนไพรธรรมชาติ ช่วยลดศัตรูพืชที่จะเกิดขึ้นได้ค่ะ
เลือกสถานที่ในการปลูก
เมื่อเลือกชนิดผักได้แล้ว เราก็ลองมาดูกันค่ะว่าจะเอาผักเหล่านั้นไปปลูกที่ไหนดี บางท่านอาจจะปลูกผักที่แปลงสวนครัวข้างบ้านให้เป็นสัดส่วน หรือเพาะใส่กระถางก็จะทำให้ดูแลรักษาง่าย ประหยัดค่าใช้จ่าย ถ้าจะให้ดีไปกว่านั้น คุณยังสามารถปลูกผักบนดาดฟ้าหรือหลังคา เพราะแปลงผักจะช่วยลดอุณหภูมิภายในอาคาร ป้องกันความร้อนจากแสดงอาทิตย์ มีส่วนช่วยลดค่าไฟจากเครื่องปรับอากาศได้ เห็นมั้ยคะว่า แค่เลือกสถานที่ปลูกดี ก็ทำให้มีเงินเหลือในประเป๋าแล้วล่ะค่ะ
เลือกภาชนะในการปลูก
คุณสามารถเลือกภาชนะที่หาได้ง่ายภายในบ้านที่พัง ไม่ใช้แล้ว ซ่อมก็ไม่ได้จะทิ้งก็เสียดาย เราก็นำมาเป็นกระถาง และช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้อีกด้วยค่ะ และควรเลือกผักที่จะปลูกให้เหมาะสมกับชนะ เช่น กะละมัง ตะกร้ารถจักรยานที่พังแล้ว กระป๋องนม ถ้วยกาแฟ ตะกร้าเอกสารเก่า ๆ รางน้ำฝนเก่า ที่เริ่มผุจะทิ้งก็นำมาปลูกพวกผักสลัดได้ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์เก่า ๆ ตู้ ชั้นใส่ของ ก็เอามาทำเป็นที่ปลูกผักสวนครัวได้ มันก็ดูเก๋ เพิ่มความสวยความสดชื้นภายในรั้วบ้านของคุณได้ดีเลยทีเดียว
วิธีปลูกผัก
ผักบางชนิดมีวิธีการปลูกไม่เหมือนกันนะคะ เพราะถ้าหากเลือกวิธีผิดจะทำให้ผักไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร ต้นแคระแกรน ไม่สวย หรืออาจจะตายได้ เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก ดังนั้นคุณจำเป็นต้องรู้วิธีการปลูกที่ถูกต้องเพื่อให้ผักเติบโตอย่างงดงามค่ะ
การปลูกผักสามารถทำได้หลายวิธีดังนี้ค่ะ
วิธีหว่านเมล็ด คุณสามารถซื้อเมล็ดพันธุ์ของผักมาหว่านหรือหยอดใส่หลุมของ แปลงหรือกระถางผักได้เลย ผักที่ปลูกโดยวิธีหว่านเมล็ดได้แก่ ผักชี, ผักบุ้งจีน, ตั้งโอ๋, ขึ้นฉ่าย
วิธีเพาะต้นกล้า เริ่มต้นคุณต้องเพาะต้นกล้าก่อน โดยดูจากความแข็งแรงของลำต้น เมื่อพร้อมแล้วให้นำมาปลูกในแปลงหรือกระถาง ผักที่ปลูกโดยวิธีนี้ได้แก่ ผักคะน้า, ผักกาดขาว, ผักกาดเขียว, ผักกาดหอม, กะหล่ำปลี, ปูเล่, กะเพรา, โหระพา
วิธีนำส่วนของผักมาปักชำ คุณสามารถนำส่วนใดส่วนหนึ่งของผักมาปักลงในดินโดยดูจากชนิดของพืชนั้น ผักบางชนิดมีรากลึกกระถางที่ใช้ปักชำควรมีความลึกที่เหมาะสมต่อผักด้วย ส่วนผักที่สามารถนำมาลงปลูกแบบปักชำในกระถางได้เลย เช่น สะระแหน่, ชะพลู, หอมแบ่ง, ตะไคร้
ดูแลรักษา
จากข่าวที่เราทราบกันว่ามีสารพิษปนเปื้อนในผักต่างๆ นั้น สารพิษจะเข้าสู่พืชผักในส่วนของการดูแลรักษานี่แหละค่ะ เพราะเกษตรกรส่วนมากจะใช้ปุ๋ย สารเคมีในการบำรุงรักษาพืชหรือไล่แมลง ถึงแม้หน้าตาของผักจะออกมาสวยงามน่ารับประทาน แต่สารเคมีเหล่านั้นก็ยังคงตกค้างอยู่ในพืชผักที่เรารับประทานเข้าไปด้วยเช่นกัน
หากเราปลูกผักสวนครัวเอง เราจะทราบดีว่าเรามีขั้นตอนการดูแลรักษาอย่างไรบ้าง เช่น ใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ ลดการใช้สารเคมี หรือจะใช้วิธีการปลูกและดูแลแบบธรรมชาติ ควบคุมการเกิดของวัชพืช ไม่มีสารเคมีตกค้างในดินหรือระเหยปนไปกับอากาศ จุลินทรีย์ ใส้เดือน สัตว์ที่มีประโยชน์ในดินก็จะไม่ถูกทำลาย ดินก็จะไม่เสื่อมสภาพง่าย ๆ ยังมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทำให้มั่นใจได้ว่าเราจะได้ผักที่ปลอดสารพิษแน่นอน 100%
หากคุณกำลังสนใจอยากมีผักสด ๆ กรอบ ๆ ที่ปลอดภัยไร้สารพิษไว้รับประทานเองที่บ้าน แถมยังประหยัดค่าใช้จ่าย มีเงินเหลือไปช้อปปิ้งอย่างอื่น ก็อย่าลืมลองนำเคล็ดลับที่เราได้หยิบมาฝากไปลองปรับใช้กันดูนะคะ
อย่าลืมกดไลค์แฟนเพจกันด้วยนะคะ www.facebook.com/ข้าวหงษ์ทอง ใส่ใจสร้างสรรค์ข้าวคุณภาพ